ข่าวสารความรู้เกี่ยวกับ

สภาอุตสาหกรรม

เล็งเก็บค่าบริการกลุ่ม​ Prosumer ในโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่​ คาดเริ่มใช้ต้นปี​ 65

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน​ (กกพ.) เตรียมใช้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ปี 2564-2568 เล็งพิจารณาเก็บค่าบริการใช้ไฟฟ้าของ Prosumer ที่สร้างความผันผวนให้ระบบไฟฟ้าเป็นหลัก พร้อมหารือกระทรวงการคลังแก้ปัญหาผู้มีรายได้น้อยใช้ไฟฟ้าฟรีรับประโยชน์ซ้ำซ้อนกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ชี้ปลายปี 2564 ปรับค่าไฟฟ้าฐานใหม่แล้วเสร็จและเริ่มใช้ปี 2565 เซตค่า Ft เป็นศูนย์งวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2565 ทันที

แหล่งข่าวคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน​ (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2564-2568 ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ​ (กพช.) เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2564 โดยสาระสำคัญที่ต้องดำเนินการพิจารณาได้แก่ การพิจารณาเก็บค่าบริการการใช้ไฟฟ้าของกลุ่ม ผู้ใช้ไฟฟ้าที่หันมาผลิตไฟฟ้าใช้เองบางส่วน​ (Prosumer) ที่สร้างความผันผวนให้กับระบบไฟฟ้าประเทศ และการลดความซ้ำซ้อนการใช้ไฟฟ้าฟรีระหว่างกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กับผู้ใช้ไฟฟ้าต่ำว่า 50 หน่วยต่อเดือน

สำหรับกรณีการเก็บค่าบริการการใช้ระบบไฟฟ้า ของกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าที่สร้างความผันผวนให้กับระบบ โดยเฉพาะกลุ่ม Prosumer นั้น กกพ.อยู่ระหว่างการพิจารณาวิธีการและอัตราการจัดเก็บที่เป็นธรรมทั้งกับผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้า เนื่องจากกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใช้เองช่วงกลางวันและพึ่งพิงระบบไฟฟ้าหลักของประเทศ ในช่วงที่ผลิตไฟฟ้าเองไม่ได้ ส่งผลให้เกิดการใช้ไฟฟ้าในระบบไม่เต็มประสิทธิภาพของการผลิตไฟฟ้า เป็นเหตุให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น เพราะยิ่งคนใช้น้อย การเฉลี่ยค่าไฟฟ้าแต่ละรายจะยิ่งสูงขึ้น

อย่างไรก็ตามการคิดค่าบริการการใช้ไฟฟ้าดังกล่าว ได้รวมค่าไฟฟ้าสำรอง (backup rate)ไว้แล้ว โดย Prosumer จะใช้ไฟฟ้าเมื่อไหร่ก็ได้แต่ต้องจ่ายค่าบริการดังกล่าว ซึ่ง กกพ. จะพิจารณาอัตราที่เหมาะสม และจะเปิดรับฟังความเห็นประชาชนก่อนจะนำไปใช้จริง

ส่วนกรณีมติ กพช.กำหนดให้กกพ. ปรับโครงสร้างอัตราขายปลีกไฟฟ้า สำหรับกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่มีรายได้น้อย ตามฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม (e-Social Welfare) แทนปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวนั้น ยอมรับว่าปัจจุบันเกิดความซ้ำซ้อนในการรับประโยชน์การใช้ไฟฟ้าฟรีของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กับกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือน ดังนั้น กกพ.จะหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อปรับการใช้ไฟฟ้าฟรีไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน

ปัจจุบันผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะได้รับเงินช่วยเหลือค่าไฟฟ้าอยู่แล้ว ส่วนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือน จะได้รับการยกเว้นเก็บค่าไฟฟ้า ดังนั้นทำให้ปัจจุบันมีผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือน ได้รับผลประโยชน์ซ้ำซ้อน ดังนั้น กกพ. จะประสานรายชื่อกับกระทรวงการคลัง เพื่อกำหนดว่ารายใดจะได้รับสิทธิ์ใช้ไฟฟ้าฟรีได้บ้างต่อไป

นอกจากนี้การปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าดังกล่าวจะมีการพิจารณาเกี่ยวกับมาตรการจูงใจลดใช้ไฟฟ้า ( Demand Response) ซึ่งปกติ กกพ.มีมาตรการดังกล่าวอยู่แล้ว แต่จะมีการหารือในที่ประชุม กกพ. เพื่อพิจารณว่าจะกำหนดอัตราจูงใจการลดใช้ไฟฟ้าแบบถาวร หรือ จะกำหนดอัตราตอบแทนต่อเมื่อเกิดการใช้มาตรการในแต่ละครั้ง ซึ่ง Demand Response ปกติจะถูกนำมาใช้เมื่อแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติต้องปิดซ่อมบำรุง ทำให้โรงไฟฟ้าขาดแคลนก๊าซฯผลิตไฟฟ้า หรือ เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค) เกินปริมาณโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ ทำให้ต้องขอความร่วมมือภาคเอกชนช่วยลดใช้ไฟฟ้า โดยผลประหยัดที่ลดได้จะให้คืนตอบแทนกับผู้เข้าร่วมโครงการ

นอกจากนี้ในส่วนการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐาน ตามโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าประเทศ พ.ศ. 2564-2568 จะมีการปรับค่าไฟฟ้าฐานทุก 4 ปีนั้น กกพ.จะเริ่มปรับค่าไฟฟ้าฐานในปลายปี 2564 นี้ และจะมีผลเริ่มใช้ตั้งแต่งวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2565 เป็นต้นไป เป็นผลให้ กกพ.จะต้องกำหนดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) งวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2565 ปรับให้เป็นศูนย์ ด้วยการนำค่า Ft ไปรวมไว้ในค่าไฟฟ้าฐานแทน จากนั้นในงวดถัดไปเดือน พ.ค.-ส.ค.2565 ค่า Ft จะเกิดขึ้นตามราคาเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นจริง และจะคำนวนค่า Ft ทุกๆ 4 เดือนต่อไป

สำหรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าของไทยแบ่งเป็น ค่าไฟฟ้าฐานและค่า Ft โดยปัจจุบันค่าไฟฟ้าฐานของไทยอยู่ในอัตราประมาณ 3.76 บาทต่อหน่วย ซึ่งคำนวณจากการลงทุนผลิตไฟฟ้าของ 3 การไฟฟ้าในช่วงทุกๆ 4 ปี ส่วนค่า Ft จะปรับเปลี่ยนตามราคาเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นจริงทุกๆ 4 เดือน

ที่มา: Energy News Center
วันที่ : 6 พ.ค. 2564

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest