องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency, IEA) ชี้ว่า ในปี 2020 อุตสาหกรรมพลังงานยั่งยืนเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอัตราที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 1999 แม้ว่าจะมีการระบาดของโควิด-19 ซึ่งนี่อาจเป็นมาตรฐานใหม่ให้กับการเติบโตในอนาคตอีกด้วย
.
การเติบโตอย่างก้าวกระโดดนี้ น่าจะเกิดจากการที่องค์กรรัฐและภาคเอกชนทั่วโลกตื่นตัวมากขึ้นกับเรื่องพลังงานสะอาด ซึ่งทั้งพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ก็ล้วนเติบโตเกือบ 50% จากปี 2019 นับว่ามาแรงมากๆ เลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นที่สหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน โดยทาง IEA ก็คาดว่าการใช้พลังงานยั่งยืนจะเติบโตต่อไปในอัตราที่ใกล้เคียงเดิม
.
Fatih Birol กรรมการบริหารของทาง IEA กล่าวว่า ทางรัฐบาลทั่วโลกต้องออกนโยบายต่างๆ เพื่อสนับสนุนการเติบโตนี้ โดยช่วยสนับสนุนการลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ช่วยจัดการเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่จำเป็น รวมถึงช่วยโปรโมตพลังงานยั่งยืนชนิดอื่นๆ เช่น พลังงานน้ำ พลังงานชีวภาพ และพลังงานความร้อนใต้พิภพ ซึ่งการใช้พลังงานสะอาดที่มากขึ้น จะเป็นตัวช่วยหลักที่ทำให้โลกเข้าสู่ยุคคาร์บอนศูนย์ได้
.
ในปัจจุบัน จีนนับเป็นจุดศูนย์กลางของพลังงานสะอาด คิดเป็น 40% ของการเติบโตด้านพลังงานยั่งยืนทั่วโลก รวมไปถึงเป็นผู้ผลิตที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการสร้างกังหันลมและแผงโซลาร์เซลล์ เช่น ซิลิคอน กระจก เหล็ก ทองแดง และวัตถุดิบอื่นๆ
.
อย่างไรก็ดี จีนก็เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับหนึ่งของโลก ด้วยการใช้พลังงานถ่านหินมากมายเพื่อให้พอกับความต้องการด้านพลังงานในประเทศ มีผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า หากจีนจะทำตามเป้าหมายคาร์บอนศูนย์ภายในปี 2060 รัฐบาลต้องปิดโรงงานไฟฟ้าพลังงานถ่านหินกว่า 600 แห่งเลยทีเดียว
.
ส่วนทางสหราชอาณาจักร จะมีการผลิตพลังงานลมนอกชายฝั่งคิดเป็น 1 ใน 4 ของพลังงานลมทั่วโลกภายในปี 2022 ทำให้กลายเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีพลังงานลมจากนอกชายฝั่งมากกว่าบนพื้นดิน ซึ่งปัจจุบันพลังงานลมก็ผลิตไฟฟ้าได้ถึง 48.5% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าในสหราชอาณาจักร
.
และด้วยนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนล่าสุดอย่างโจ ไบเดน ผู้ตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนของประเทศลงกว่าครึ่งภายใน 10 ปี ก็อาจทำให้พลังงานยั่งยืนเติบโตไวขึ้นไปอีก เป็นที่น่าติดตามว่า ในปี 2021 จะมีการเติบโตของพลังงานยั่งยืนมากกว่าปี 2020 ไปอีกหรือไม่